ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับโช้คอัพ
ความละเอียดอ่อนของระบบกันสะเทือน
ในตอนนี้ เราจะมาเจาะลึก และทำความรู้จักกับ Performance Shock ให้มากขึ้น เนื่องจากมันมีกระบวนการและกรรมวิธีคิดและผลิตที่ละเอียดอ่อน และล้ำลึก ดำดิ่งเกินห้วงแห่งจิตนาการอย่างกับหนังแนวแฟนตาซี (เข้าไปโน่น) เรามาเริ่มกันที่ดูรายละเอียดของโช้คอัพที่ติดมากับรถแสตนดาร์ท จะมีชิ้นส่วนอยู่เพียงประมาณ 20 ชิ้น และถ้าหากมาเทียบกับโช้คสมรรถนะสูง พบว่า ชิ้นส่วนในการประกอบ มันมากขึ้นอีกถึงสองเท่าตัว ถึงกว่า 60 ชิ้น เลยทีเดียว
นั่นเป็นเพราะกลไกที่ถูกออกแบบมาให้สามารถควบคุมทำงานได้อย่างละเอียด ทุกชิ้นส่วนมีหน้าที่และความสำคัญในตัว ด้วยโอกาสนี้ผู้เขียนจึงจะขอนำไปเยี่ยมชมลักษณะการทำงานของกลไกที่อยู่ในโช้คหนึ่งตัวให้ได้ทราบกัน ว่าในกระบวนการที่มันจะเด้งขึ้นเด้งลงอย่างที่เราเห็นนั้น มันต้องผ่านอะไรบ้าง
Damper
อย่างที่เรียนให้ทราบในคราวก่อน ว่า Shock Absorber เป็นตัวหน่วงเวลาควบคุมให้สปริงทำงานเท่าที่ต้องการ ภายในกระบอกโช้คก็จะมีชิ้นส่วนต่างช่วยกันอยู่ ตัวหลักๆก็จะมี ลูกสูบ (Piston) ลักษณะการทำงานก็คล้ายๆกับห้องลูกสูบของเครื่องยนต์ แต่ในนี้จะไม่มีการสันดาบ เปลี่ยนเป็นการเจาะลูกสูบให้มีรู สำหรับบีบให้น้ำมันไหลผ่านระหว่าง ห้องบนไปล่าง หรือล่างไปบน ภายในกระบอกสูบให้ใช้เวลาระดับหนึ่ง ขนาดหรือรูของมันก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของวิศวกรว่าต้องการให้มันทำงานแบบไหน ในจุดที่มีการเสียดสีของลูกสูบกับกระบอกสูบ จะมีแหวนที่เรียกว่า Teflon Ring เป็นวัสดุ“เทฟล่อน” ซึ่งมีคุณสมบัติคือความลื่น ยืดหยุ่น และทนความร้อนในระดับที่จำเป็นขณะที่เกิดกระบวนการทำงาน ในกระบอกนี้ก็จะบรรจุเต็มไปด้วยน้ำมัน สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างชิ้นส่วนที่เอาไว้เป็นเขี่อนกั้นน้ำมันและแรงดันจากแก็ส มันเรียกว่า Seal Block (ซีลบล็อค) ซึ่งเจ้าซีลตัวนี้ มันมีความยาว 1 ส่วน 4 ของตัวกระบอกเลยทีเดียว เพราะหน้าที่ของมันสำคัญ นอกจากจะต้องกั้นไม่ให้มีน้ำมันเล็ดลอดออกไปอย่างเดียว มันต้องรับแรงดันจากแก็สอีกมากมาย และการเสียดสีพร้อมความร้อนที่มาจากแกนโช้คอีกด้วย ให้ท่านสังเกตว่า “ กรณีหากโช้คแก็สเกิดการรั่ว” มันจะไม่เยิ้มออกมาแบบกระปิดกระปอย.. ด้วยแรงดันของแก็ส มันจะพุ่งปี๊ดออกมาจนหมดแรงดัน หลายๆคนอาจจะเข้าใจผิดว่า บางทีไปซื้อโช้คออกมาจากร้าน เห็นน้ำมันเยิ้มตั้งแต่อยู่ในกล่อง จริงๆอาจจะเป็นน้ำมันยังค้างอยู่ในฝากระบอกสูบ (End Cap) ซึ่งตัวนี้มีหน้าที่ดักฝุ่นและเก็บความเรียบร้อยเท่านั้นเอง
Bearing
แบริ่ง เป็นหูยึดโช้คที่ได้ใส่ตัว “ลูกปืนตาเหลือก” คุณสมบัติพิเศษที่อยู่ในตัวมันซึ่งดีกว่าเบ้ายางธรรมดาก็คือมีการให้องศาในการบิดตัวของโช้คและโครงสร้างได้อย่างเป็นธรรมชาติ ว่ากันแบบเชิงลึกก็คือ ในเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน และรถเคลื่อนที่ ทั้งนี้อาจจะมาจากกำลังเครื่องยนต์ที่มากระชาก หรือการบิดตัวจากการรับน้ำหนักโครงสร้างของเฟรมก็จะบิดตัวเล็กน้อยเวลาเข้าโค้ง ปัจจัยพวกนี้อาจมีผลต่อการทำงานของโช้ค เพราะถ้ามันไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ อุปกรณ์ซับแรงทั้งหมดก็ไร้ประโยชน์ อุปกรณ์นี้จึงแสดงตัวเป็นผู้เสียสละยอมให้ถูกฉุดกระชากลางถูได้ ซึ่งมันจะให้องศาในการบิดตัวได้เล็กน้อยเพื่อให้ รองรับความสั่นสะเทือนได้อย่างสมบรูณ์แบบ
ถามว่า “จำเป็นไหม ที่ต้องมีแบริ่ง หากเราโช้คหูแบบธรรมดา แล้วใส่น็อตที่มีขนาดเล็กกว่ารูของหูโช้คนิดนึงแทนเพราะผลลัพท์ก็คือ มีการให้ตัวเหมือนกัน ” ตอบว่า มันก็ใช้ได้ครับ แต่นอกจากมันจะบิดตัวได้ มันก็จะขยับขึ้นลงได้ด้วย ซึ่งนั่นเป็นอาการที่ไม่อยู่ในการควบคุม และก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย นั่นก็รวมถึงของแต่งตามร้านทั่วไปที่เป็นตัวยกโช้ค ซึ่งมันจะยกให้รถสูงขึ้นมาอีก 3-4 ซม. แน่นอนว่ามันจะดูเท่ขึ้นแต่โช้คจะมีการบิดตัวที่ไม่จำเป็นในขณะทำงาน ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับรถที่ใช้งานย่านความเร็วสูงแน่นอนครับ
นั่นก็เป็นขอบเขตการทำงานของอุปกรณ์แต่ละชิ้นอย่างคร่าวๆ ไม่น่าเชื่อว่าอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ แต่กระบวนการมันมากมายเหลือเกิน นั่นอาจเป็นเพราะว่า โช้คอัพในรถจักรยานยนต์ มันต้องทำงานหลายหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการรับน้ำหนักเมื่อถูกใช้ ทั้งยังต้องช่วยในการทรงตัว ต่างกับรถยนต์ที่ไม่ต้องออกแบบให้ยุ่งยากขนาดนั้น ในครั้งหน้าเราจะมาดูกันว่า เมื่อเราติดตั้งอุปกรณ์พิเศษชื้นนี้แล้ว ควรจะปรับอย่างไร เซ็ทแค่ไหนถึงจะเหมาะสมและพอดี
|